การบรรยายหัวข้อ “นักข่าวดิจิตอลในยุค Gen C” โดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้มาให้ความรู้กับนักข่าวดิจิตอลในการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวดิจิตอล รุ่นที่ 5 ของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
* ให้เครดิตเนื้อหาและภาพประกอบทั้งหมดกับวิทยากรนะคะ
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของสื่อ เช่น ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ที่ลดลงเรื่อยๆ และตัวเลขสถิติการอ่านหนังสือพิมพ์ของคนไทยที่ต่ำลงเช่นกัน
จากภาพกลุ่มหนังสือพิมพ์ทางซ้ายมือ เป็นหนังสือพิมพ์ที่เป็น Mass (เช่น ไทยรัฐ, เดลินิวส์) คนอ่านเริ่มน้อยลง ต้องข้าม platform ไปสู่ดิจิตอล ส่วนฝั่งขวาของภาพ เป็นหนังสือพิมพ์เฉพาะกลุ่ม (เช่น กรุงเทพธุรกิจ, ผู้จัดการ ) ยอดจริง ๆ ที่มีคนอ่านเยอะ ไม่ใช่ยอดจากหนังสือพิมพ์ แต่เป็นการเสพจากออนไลน์ กลุ่มเป้าหมายไม่อยู่ที่กระดาษ แต่ที่ยังมีกระดาษอยู่เพราะมีพลังทางการเมือง
ทั่วโลกก้าวสู่โลกที่เชื่อมต่อกัน Social Media ครอบคลุมทั่วโลกด้วยหลากหลายชนิด แต่ละประเทศก็จะแตกต่างกัน บางประเทศ Facebook อาจไม่ใช่สื่อสังคมยอดนิยมเสมอไป เช่น จีน เราก็ต้องรู้การใช้ของกลุ่มเป้าหมาย
เราอยู่ในยุค Gen C ..ยุคที่อยู่กับคอมพิวเตอร์, อยู่กับอินเตอร์เน็ต, บริโภคข้อมูลข่าวสารมากกว่า 1 Platform
คนไทยโดยเฉลี่ยใช้เวลากับ Facebook 2 ชั่วโมง 35 นาที มีพฤติกรรมเหมือนกับการขนมขบเคี้ยว (Snack) คือ ไม่ใช่อาหารหลัก กินบ่อย ๆ ทีละนิด แต่เยอะ พฤติกรรมตลอดวันของเราเปลี่ยนไป
ปัจจุบันการสื่อสารเปลี่ยนไปจาก One way communication => Two way communication
ข่าวบางข่าวไม่ใช่ส่งข่าวแล้วจบ! แล้วไปทำข่าวอื่นต่อเหมือนสมัยก่อน ต้องคิดต่อว่าจะเล่นกับผู้บริโภคอย่างไรให้มากขึ้น เช่น ทำให้เค้ามีส่วนร่วม มีการแชร์ มีการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ตรงนี้จะสำคัญและแตกต่างจากเมื่อก่อน ไม่ว่าจะทำข่าวทีวี ออนไลน์ หนังสือพิมพ์ ทุกอย่างจะต้องเชื่อมต่อกันหมด เช่น ถ้าทีวีนำเสนอข่าวอุบัติเหตุตึกถล่ม ในออนไลน์ต้องทำกราฟิก หาข้อมูลความรู้เพิ่มเติมอย่างอื่นด้วย เช่น สถิติในอดีตที่ผ่านมา เพราะคนเสพข่าวจะไม่รอข้อมูล ถ้าคุณไม่มี เค้าจะไปหาที่อื่น
ผู้เสพข่าวสมัยนี้มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากเมื่อก่อน เค้าจะเสพคอนเท้นส์แล้วอยากมีส่วนร่วม หรือแม้แต่เป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสารเอง พลังของ นักข่าวพลเมือง มีมากขึ้น หลายข่าวไม่ได้มาจากนักข่าวมืออาชีพ เช่น ราษีไศล วินมอเตอร์ไซต์ เค้ามีข้อมูลในพื้นที่ละเอียดกว่านักข่าว
ต่อไปการทำงานของนักข่าว จะไม่ใช่ทำงานคนเดียว ต้องเชื่อมกับคนเหล่านี้มากขึ้น มีแหล่งข่าวใหม่ ๆ มากขึ้น ไม่ใช่แหล่งข่าวเดิม ๆ ที่คุ้นชิน เบอร์โทร ทวิตเตอร์ อีเมล์ ต้องเก็บลิสต์เพื่อตามแหล่งข่าวมากขึ้น นักข่าวสายไหนก็ต้องมีลิสต์ของชุมชนที่แหล่งข่าวเค้าอยู่กัน เค้าพูดคุยกันอยู่ตรงไหน เราต้องตามให้เจอ
แล้วนักข่าวดิจิตอลจะปรับตัว ปรับทัศนคติและวิธีการทำงานอย่างไร??
…สิ่งที่นักข่าวดิจิตอล หรือ ออนไลน์ ต้องปรับตัวเป็นอย่างแรกคือ
1. ปรับ Mind set เรื่องการทำข่าว
นักข่าวไม่ใช่ Gatekeeper อย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ต้องเป็น Gatewatcher ด้วย แต่ไม่ใช่กลายเป็น “สำนักข่าวถ้ำมอง” ..คือต้องปรับระบบคิด ทัศนคติ วิธีการทำข่าว ถ้าไม่ปรับ ยังทำข่าวแบบวิธีเดิม ๆ ในขณะที่ผู้เสพข่าวเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว ต้องเข้าใจว่านักข่าว ไม่ใช่คนกำหนดข้อมูลข่าวสาร (Gatekeeper) เองเหมือนเมื่อก่อน แต่ต้องเข้าไปอยู่ในชุมชนต่าง ๆ (Gatewatcher) ด้วย แต่ไม่ใช่เข้าไปดูในชุมชนแล้วหยิบเอามาเขียนเป็นข่าวแล้วจบ กลายเป็น “สำนักข่าวถ้ำมอง” สำนักข่าวที่นำเสนอข่าวจาก Social Media โดยไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม, นำเสนอลอย ๆ แล้วจบ, Balance ของข่าวไม่มี เน้นเรียก page view เน้นเรียก Like เมื่่อมีข่าวแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปจะไม่ต่างจาก “สำนักข่าวขยะ” เครดิตความน่าเชื่อถือจะลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งสำคัญเพราะ “สำนักข่าว” อยู่ได้ด้วย “ความน่าเชื่อถือ” เมื่อไหร่ที่คนเข้ามาเว็บข่าวของคุณเพราะอยากดูข่าวตลก สำนักข่าวของคุณไม่ต่างจาก Drama Addict
ต้องหลอมรวม (Convergence) กับ ผู้บริโภคสื่อ
โดยเฉพาะผู้บริโภคสื่อกลุ่มเป้าหมาย
ผู้บริโภคสื่อในที่นี้ ไม่ใช่ผู้บริโภคแบบเดิม ซึ่ง Active ตลอดเวลา เค้าพร้อม “ส่ง” ข้อมูล นักข่าวมีหน้าที่ “กรอง” ข้อมูล อย่าไปเชื่อก่อน ต้องเช็คข้อมูลทุกครั้ง ทั้งข้อมูล ข่าว คลิป แม้จะเป็นแหล่งข่าวที่สนิทที่สุด เพราะสำนักข่าวอยากได้ความเร็ว เหมือนกรณีข่าว “พ่อค้าเขียงหมู”!
ต้องสร้าง Engagement กับผู้บริโภคข่าว
ผ่านการใช้ Social media หรือสร้างแฟลตฟอร์มใหม่มารองรับ
หัวใจสำคัญของ Social Media คือ การมีส่วนร่วม (Collaborative) ของผู้ใช้สื่อ ต้องสร้างการมีส่วนร่วม ไม่ได้หมายถึงแค่การ Like, Share แต่มีส่วนร่วมในการคิดประเด็นข่าว หาแหล่งข่าว หรือสร้าง platform ขึ้นมาใหม่ เช่น เพจน้ำท่วมให้รีบบอก, ถนนวิภาวดีลูกเสือก่อกองไฟ เป็นต้น
Crowdsourcing ในหลายประเทศ ทำ Crowd Source กับข่าว เค้าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับข่าว เช่น ให้ผู้บริโภคส่งข้อมูล ปักหมุด หากยังไม่ตรวจสอบก็ให้กำหนดสี ที่ให้ความหมายแยกระหว่างข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วหรือยังไม่ตรวจสอบ เช่น ให้ชาวบ้านร่วมแจ้งบ่อนในพื้นที่ , ส้มตำแถวไหนอร่อย
2. รู้จักธรรมชาติของสื่อแต่ละประเภท
แต่ละประเภทต้องเข้าใจ อะไรที่ต้องเร็ว อะไรที่ต้องลึก อะไรที่จะประสานกันได้ ต้องดูแต่ละธุรกิจว่าต้องทำอะไรบ้าง เน้นอะไรบ้าง ไล่ลำดับเอา และอะไรจะเสริมอะไรได้บ้าง แต่สำคัญ “ต้องเช็คข่าว” ความถูกต้อง มาก่อนเสมอ
3. รู้จักใช้สื่อดิจิทัลให้เป็น หาอะไรใหม่ ๆ มาใช้ อาจทำ Lab เพื่อทดสอบแอพฯ, โปรแกรมใหม่ ๆ มาให้นักข่าว
องค์ความรู้ เริ่มเปิดมากขึ้น สำคัญคือ นักข่าวเรา จะหาความรู้หรือเปล่า หากมีทักษะมากขึ้น ยิ่งได้เปรียบมากขึ้น แนะนำดูคลิปสอน Mobile Journalism
4. ต้องใช้สื่อดิจิทัลทำข่าวเชิงสืบสวน เชิงลึกมากขึ้น
อย่าเอาแค่ข้อมูลที่อยู่ใน Social Media มาแปะ แล้วจบ ต้องขุดคุ้ย ต้องตั้งคำถาม ต้องสัมภาษณ์
..อย่าเชื่อทุกอย่างที่เห็น อย่าลอกทุกอย่างที่เจอ อย่าขโมยทุกสิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์มาเป็นของตัวเอง
เพราะผู้บริโภคปัจจุบันฉลาด ต้องฝึกใช้ Advance Search , Twitter Search ให้เป็น
5. ต้องใช้สื่อดิจิตอลสร้างเครือข่าย-แหล่งข่าว หากลุ่ม ชุมชนของแหล่งข่าวที่เค้าอยู่ให้เจอ แล้วเราจะได้แหล่งข่าวที่ช่วย Hint ประเด็นใหม่ ๆ ให้เราได้
6. ต้องเป็น Data Journalism ยุคนี้เป็นยุคที่มีข้อมูลข่าวสารเต็มไปหมด จะคุ้นกับคำว่า “Big Data” นักข่าวจะจัดสรรข้อมูลมากมายเหล่านี้ได้อย่างไร
7. ต้องทำ Content curation
เมื่อข้อมูลเยอะ เราต้องจัดการ กรองข้อมูล และรวบรวมข้อมูลไว้ที่เดียวกัน มีเครื่องมือหลายอย่าง เช่น Pinterest , Storify, Scoop.it หรือ Data Addict ก็ถือเป็นวิธีการ Curation เช่นกัน
8. ต้องสร้าง Personal Brand ต้องคิดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า อยากให้คนมองคุณอย่างไร เช่น อยากให้คนมองคุณเป็นนักข่าวที่เก่งด้านอาหาร ต้องรวบรวมคอนเท้นส์ของคุณไว้
ทำไมต้อง “ทำการตลาดตัวเอง”
“จาก Nobody สู่ Somebody”
1. เพื่อให้เป็นที่รู้จักและจดจำ
2. สร้างมูลค่าให้กับตัวเอง
3. ทำให้ตัวเองโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่น
4. สร้างความเป็นมืออาชีพ
9. ต้องรู้เท่าทันสื่อ
10. ต้องทำข่าวอย่างมีจริยธรรม
ต้องเคารพในสิทธิ เรื่องเด็ก เพราะผลของข่าวที่คุณทำ มีผลกับคนจำนวนมาก ถ้าทำอะไรที่ผิดจริยธรรม คนที่เสียใจมีมากกว่าหนึ่งครอบครัว นักข่าวต้องคำนึงและตระหนักตรงนี้ด้วย
ขอบคุณอาจารย์มานะมากเลย ไอเดียดีๆ เยอะเลยค่ะ ^__^
(อาจารย์ยืมคอมฯ เราไปใช้ เห็น wallpaper เราเท่านั้นแหละ งงเลยทีเดียว)