เมื่อคุณต้อง..สัมภาษณ์งาน

January, Month of Decision Making ..เดือนแห่งการตัดสินใจ

มกราคม 2563 คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องราวในสถานการณ์บ้านเมือง มากมายเรียกว่าตามอ่าน ตามอัปเดตกันไม่ทันเลย สำหรับเราเดือนมกราคม นอกจากยังแฮงก์กับช่วงหยุดยาวปีใหม่แล้ว เมื่อกลับเข้าสู่วิถีมนุษย์ออฟฟิศ ต้นปีเป็นอะไรที่ต้องจัดการหลายอย่าง แผนงาน งบประมาณ ผลงาน สรุปของเก่า นำเสนอของใหม่

เดือนนี้..เดือนแห่งการตัดสินใจ

…นอกจากงานปกติแล้ว สองภารกิจสำคัญของเดือนนี้ ที่มีผลกับชะตาชีวิตคนอื่นทั้งคนร่วมงาน และคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็คือ การประเมินผลงานประจำปี ซึ่งหมายถึงการให้คะแนน ให้เกรด แน่นอนก็ยาวไปถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมากน้อยในอีกหนึ่งปีต่อจากนี้ด้วย ซึ่งเป็นปกติองค์กรในช่วงเวลานี้ และเนื่องจากมีเปิดรับสมัครพนักงานเสริมทีมหลายตำแหน่ง เลยเป็นที่มาของภารกิจ กระบวนการสรรหาพนักงาน ตั้งแต่รับสมัคร ออกข้อสอบ ตรวจให้คะแนน สัมภาษณ์ ไปจนถึงการ “เลือก” หรือ “ไม่เลือก” ซึ่งองค์กรใหญ่ ๆ ก็จะทำเป็นกระบวนการ มีคณะกรรมการ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตของคนอื่นเลยก็ว่าได้ จึงขอยกให้เป็น “เดือนแห่งการตัดสินใจ”

การสัมภาษณ์งาน เป็นหนึ่งในกระบวนการคัดเลือกคนที่จำเป็นและสำคัญ เป็นช่วงเวลาที่ต้องตั้งใจมาก ตั้งใจมอง ตั้งใจถาม ตั้งใจฟัง ตั้งใจจด ตั้งใจคิด ตั้งใจวิเคราะห์ตีความ (เรียกว่าแอบทำงานอื่นไม่ได้เลย)

การสัมภาษณ์งานคน เป็นภารกิจหนึ่งที่ชอบเพราะเราจะได้รู้จักคนมากหน้าหลายตามากขึ้น ได้ฟังวิถีการทำงานของคนในองค์กรอื่น ๆ ได้รู้เทรนหรือสไตล์ที่เปลี่ยนไปของรูปแบบการทำงาน ได้เห็น Pain Point ที่ไม่คาดคิด เห็นอาการ เห็นความแตกต่างกับองค์กรตัวเอง สิ่งที่ได้..จึงไม่ใช่แค่คนที่ผ่านการคัดเลือก

จากที่เคยผ่านการเป็นกรรมการสัมภาษณ์งานมาหลายต่อหลายคน เลยลองรวบรวมความคิด มุมมองในฐานะกรรมการสัมภาษณ์งานคนหนึ่ง กับสถานการณ์ที่เคยเจอ เผื่อใครอยู่ในสถานการณ์แบบนี้จะเอาไปใช้ได้บ้าง (และเผื่อตัวเองต้องเป็นคนถูกสัมภาษณ์ด้วยเช่นกัน)

  1. การเขียนข้อมูลบนใบสมัคร ลายมือ ภาษา ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย อย่าลืมว่ากระดาษชุดนั้นเป็นเรื่องราวของคุณ และเป็นสิ่งแรกที่เราได้เห็นและวาดภาพตัวคุณผ่านตัวหนังสือ ถึงแม้จะเป็นแบบฟอร์มที่อาจจะดูเยอะเกินไป แต่นั่นทำให้เราประเมินและมองคุณได้จากการเขียนในหลาย ๆ จุด ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจ ใส่ใจ แม้แต่นิสัย ใจคอ ที่สำคัญเหนืออื่นใด ข้อมูลในนั้นต้องเป็นความจริง
  2. Footprint ใน social media ของคุณมีผล อย่าลืมว่าเราไม่รู้จักคุณ และนั่นเป็นหนึ่งใน info. ที่สะท้อนหลาย ๆ อย่างในตัวคุณ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เราจะมองคุณตามนั้นเช่นกัน
  3. การไม่ผ่าน ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เก่ง เพียงแค่คุณอาจจะมีน้อยไปหรือมากไปในสิ่งที่เราต้องการ หรือศักยภาพของคุณน่าจะเปล่งประกายได้ดีในงานอื่นมากกว่า เราอยากให้ความสามารถของคุณอยู่ให้ถูกที่ถูกทาง 

  4. ช่วงการพูดคุย พยายามให้เป็นตัวเองมากที่สุด กรรมการอยากเห็นความเป็นธรรมชาติ เพราะเราไม่ใช่เวทีประกวด จึงไม่ควร Oversell แต่ก็ไม่ถึงกับ Undersell
  5. ความตื่นเต้น ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรือสิ่งผิดปกติ เป็นกันทุกคน บางคนสัมภาษณ์อยู่เลือดแดงไต่ขึ้นมาถึงคอ กรรมการจะช่วยทำให้บรรยากาศ Relax ขึ้น แต่ไม่ต้องกังวล ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
  6. ประวัติการศึกษา เกรด สาขา ซึ่งมักจะอยู่หน้าแรกของ Resume แต่มักจะไม่เป็นลำดับแรกที่เรามองและให้ความใส่ใจมากนักเท่ากับประสบการณ์ในหน้าต่อไปของคุณ
  7. เด็กจบใหม่ก็มีประสบการณ์ได้ หากน้องเป็นเด็กจบใหม่ ไม่ต้องกังวล จริงอยู่ที่องค์กรมักชอบมองหาคนมีประสบการณ์ แต่อย่าละเลยกับกิจกรรมระหว่างการศึกษา หรือการฝึกงาน เพราะนั่นก็คือประสบการณ์ที่เราพิจารณาเช่นกัน
  8. ในยุคนี้ แบบฟอร์มใบสมัครเป็นเพียงส่วนหนึ่ง บางคนการเขียนประสบการณ์ที่ทำงานมาตามแบบฟอร์ม ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่เมื่อพูดคุยไป งานอดิเรก ผลงานที่ทำมาส่วนตัว หรือแม้แต่ไลฟ์สไตล์นอกเวลางาน Amazing มาก เพราะในยุคนี้ ทุกคนมีช่องทาง มีเครื่องมือ มีหลากหลาย skill ทักษะความสามารถของเราไม่ได้ถูกวัดอยู่แค่ “งานในตำแหน่งที่ทำในที่ทำงาน” เท่านั้น อย่าลืมที่จะบอกและเล่าให้ฟังว่าคุณทำอะไรมาบ้าง

ขอให้ทุกคนโชคดี